วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สิทธิของผู้บริโภคอยู่ที่ไหน?

เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน2552ที่ผ่านมา ผู้เขียนไ้ด้รับข่าวว่าคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปหรือ European Commission ภายใต้แผน FP7 ได้พยายามผ่านร่างกฏข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ที่ใช้ส่วนผสมของวัสดุนาโน (nanomaterials) แต่มีหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งคือตัวแทนจากประเทศเยอรมันนี โดยกฎข้อบังคับได้ระบุว่า "All ingredients in the form of nanomaterials shall be clearly indicated in the list of ingredients" แปลคร่าวๆได้ว่า ส่วนประกอบในรูปแบบของวัสดุนาโนควรต้องระบุในรายการส่วนประกอบของสินค้า ซึ่งทางเยอรมันนีไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว เพราะมองว่าผู้บริโภคจะเห็นว่าเป็นการสัญญาณเตือน ซึ่งมีผลกระทบต่อการขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่กลุ่ม Green MEPs and Environment lobby ก็ยังยึดหลักการที่ว่า "no data no market" ต่อกรณีของนาโนเทคโนโลยี (ผู้เขียนตีความว่า) หมายถึง ไม่มีข้อมูลก็ไม่ควรจำหน่าย เพราะอย่างที่ทราบกันว่าความกลัวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากความเป็นพิษของวัสดุนาโน(บางประเภท) ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต 100% ในขณะที่สินค้าที่มีส่วนประกอบของวัสดุนาโน(ทั้งแท้และเทียม) มีอัตราเพิ่มมากขึ้นทั่วตลาดอเมริกา ยุโรปและเอเซียบางประเทศ (จีน, เกาหลี, สิงค์โปร) ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมมองว่าการประกาศส่วนผสมนาโนในผลิตภัณฑ์อาจทำให้มีการต้องตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยของสินค้ามากขึ้น (อาจเป็นภาระมากขึ้น) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้ามากกว่า 100 รายการในตลาดยุโรปขณะนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่ากฎข้อบังคับดังกล่าวน่าจะถูกประกาศใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประมาณ 27 ประเทศเร็วๆนี้ สำหรับคำนิยามตามกฎหมายของวัสดุนาโนในกลุ่มสหภาพยุโรป คือ "an insoluable or biopersistant and intentionally manufactured material with one or more external dimensions, or an internal structure, on the scale from 1 to 100 nm" (วัสดุที่ไม่ละลายน้ำหรือวัสดุชีวภาพที่มีการตบแต่งในมิติหนึ่งหรือหลายมิติที่ขนาดระหว่าง 1 ถึง 100 นาโนเมตร) สำหรับมุมมองของผู้เขียน ผู้บริโภคควรมีสิทธิที่จะรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะใช้มีผลต่อเรามากหรือน้อยขนาดไหน หรืออย่างน้อยก็ควรมีสิทธิในการรับรู้เืพื่อเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด ตามคำประกาศของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (1962) เกี่ยวกับการรักษาสิทธิของผู้บริโภค

ที่มา: http://www.nanowerk.com/news/newsid=13681.php

ไม่มีความคิดเห็น: